วิธีในการใช้งาน SCHMIDT HAMMER

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน

วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำงาน และ วิธีในการใช้งานเจ้า SCHMIDT HAMMER ต่อจากเมื่อวานนะครับ

ในการทดสอบหาค่ากำลังอัดของคอนกรีตด้วยวิธี REBOUND HAMMER TEST หรือที่เราเรียกกันจนคุ้นหูว่า SCHMIDT HAMMER TEST (ดูรูปที 1) เป็นการทดสอบเพื่อที่จะทำการประเมินค่ากำลังอัดของคอนกรีตในโครงสร้างแบบไม่ทำลาย (NON-DESTRUCTIVE TEST) ตามมาตรฐาน ASTM-C805

โดยการประเมินค่ากำลังอัดประลัยของคอนกรีต (ค่า fc’) จะทำขึ้นโดยอาศัยหลักการวัดค่าดัชนีการสะท้อนกลับ (REBOUND NUMBER) ที่เกิดจากการกดแกนทดสอบ (PLUNGER) และ กระบอกทดสอบ (HOUSING) ให้ตั้งฉากกับผิวของคอนกรีตที่ต้องการทดสอบ (ดูรูปที่ 2) แรงกระแทกจากสปริงภายในจะทำให้แกนทดสอบเกิดการสะท้อนกลับโดยมีค่าดัชนีตั้งแต่ 10 ถึง 100 ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซับค่าพลังงานของผิวคอนกรีต โดยที่ผิวคอนกรีตที่มีความแข็งมากกว่าจะมีค่าดัชนีการสะท้อนกลับที่สูงกว่า

ตัว REBOUND HAMMER จะใช้หลักการของการกระแทก และ การกระดอนกลับ (REBOUND) ของสปริง หรือ มวลยืดหยุ่น กำลังที่กระดอนกลับจากการกระแทกจะมีค่าแปรผันกับค่าความแข็งแรงของผิวที่ทำการทดสอบ

โดยเมื่อจะใช้เครื่องมือ REBOUND HAMMER เราควรทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ตรวจสอบสภาพพื้นผิวของตัวอย่างที่ต้อวการจะทดสอบ ขัดผิวที่ต้องการจะทดสอบให้เรียบ ถ้าผิวโค้งนูน หริอ ผิวเว้า จะมีผลต่อการสะท้อนกลับของ REBOUND HAMMER เนื่องจากผิวที่โค้งนูนจะทำให้ค่าที่อ่านได้ ต่ำ กว่าค่าความเป็นจริง ส่วนผิวที่เว้าจะทำให้ค่าที่อ่านได้ สูง กว่าค่าความเป็นจริง
  2. จัดแบ่งพื้นที่ตัวอย่างทดสอบให้มีตำแหน่งการทดสอบอย่างน้อย 10 ตำแหน่ง และ แต่ละตำแหน่งห่างกันอย่างน้อย 25 มม
  3. ทำการกด REBOUND HAMMER ในทิศทางที่ตั้งฉากกับพื้นผิวตัวอย่าง พร้อมกับทำการบันทึกค่า REBOUND NUMBER และ ทิศทางการกด ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ทิศทาง ได้แก่ การกดในแนวนอน การกดในแนวตั้งแบบยิงขึ้น หรือ การกดในแนวตั้งแบบยิงลง เนื่องจากในแต่ละทิศทางจะใช้กราฟในการปรับแก้ค่า REBOUND NUMBER เป็นค่า COMPRESSIVE STRENGTH ของคอนกรีตที่แตกต่างกัน (ดูรูปที่ 3)
  4. นำค่า REBOUND NUMBER ทั้งหมดมาทำการหาค่าเฉลี่ยแล้วดูว่าค่า REBOUND NUMBER ที่ตำแหน่งใดจะมีค่าที่สูงกว่า หรือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกิน 6 หน่วย หากเป็นเช่นนั้นให้ทำการทดสอบตำแหน่งนั้นใหม่ หากทำการทดสอบใหม่แล้วยังไม่ได้ ให้ทำการตัดค่าที่ตำแหน่งนั้นทิ้งเสีย แล้ว หาค่าเฉลี่ยใหม่ จากนั้นนำค่าเฉลี่ยที่หาได้มาคำนวณหาค่า COMPRESSIVE STRENGTH ของคอนกรีตจากกราฟที่ใช้ในการปรับแก้ค่า

 

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่ผมนำมาฝากเพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชนต่อตัวท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ

ADMIN JD @ ภูมิสยามไมโครไพล์